กำเเพงเบอร์ลิน

กำเเพงเบอร์ลิน

Berlin, Brandenburger Tor

            กำแพงเบอร์ลินเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นช่วงสงครามเย็น มีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันตกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีตะวันตก กับเยอรมนีตะวันออกที่โอบอยู่โดยรอบ มีความยาวทั้งสิ้น 155 กิโลเมตร เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) และปิดกั้นพรมแดนนี้เป็นระยะเวลา 28 ปี ก่อนถูกทลายในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532

ในเยอรมนีตะวันออก กำแพงเบอร์ลิน คือ แนวเขตแดนที่มั่นคง และสัญลักษณ์ของการต่อต้านทุนนิยม แต่สำหรับโลกเสรีแล้ว มันคือ สัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างระบบทุนนิยมของยุโรปตะวันตก ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา กับระบบคอมมิวนิสต์ของยุโรปตะวันออก ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต หรือที่เรียกกันว่า สงครามเย็น นั่นเอง กำแพงเบอร์ลิน ทำให้กรุงเบอร์ลินฝั่งตะวันตก กลายเป็นเสมือน หน้าต่างสู่เสรีภาพ

นับตั้งแต่การสร้างกำแพงเบอร์ลิน การข้ามผ่านแดนจากเยอรมนีตะวันออก ไปยังเยอรมนีตะวันตก กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากมีการฝ่าฝืนและถูกพบเห็น มีโทษสถานเดียว คือ การยิงทิ้ง ณ บริเวณกำแพงนั่นเอง ตลอดระยะเวลา 28 ปี คาดว่ามีผู้เสียชีวิตที่กำแพงเบอร์ลินขณะหลบหนีระหว่าง 137 ถึง 206 คน

 

การลอบข้ามกำแพง

ในระหว่างที่กำแพงยังตั้งอยู่นั้น มีความพยายามหลบหนีข้ามเขตแดนราว 5,000 ครั้ง ในช่วงแรกนั้น การหลบหนีเป็นไปอย่างไม่ยากนัก เนื่องจากกำแพงในช่วงแรกเป็นเพียงรั้วลวดหนามเตี้ย ๆ และบางส่วนก็กระโดดออกมาทางหน้าต่างของตึกที่อยู่ติดกับกำแพง แต่ไม่นานนักกำแพงก็เปลี่ยนเป็นคอนกรีตที่แน่นหนา ส่วนหน้าต่างตึกต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้กับกำแพงก็ถูกก่ออิฐปิดตาย

หากการสร้างกำแพงเบอร์ลิน คือ นวัตกรรมของชนชาติ การลอบข้ามกำแพงเบอร์ลิน เป็นย่อมเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่า มีการลอบข้ามกำแพงเบอร์ลินหลายต่อหลายครั้งที่แสดงถึงความสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ เช่น การข้ามกำแพงด้วยบอลลูน การสร้างสลิงข้ามแนวกำแพงด้วยเวลาไม่ถึง 2 นาที การขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพง ซึ่งสามารถช่วยชาวเบอร์ลินตะวันออกหลบหนีได้มากถึงกว่าร้อยคน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีจุดข้ามแดนบางจุดที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพสัมพันธมิตร อาทิ จุดข้ามแดนโดยการว่ายข้ามแม่น้ำ กองทัพอังกฤษได้หย่อนบันไดลิงไว้ในฝั่งตรงข้ามเพื่อให้ผู้ที่ว่ายน้ำข้ามไปสามารถปีนขึ้นฝั่งได้

 

การเสียชีวิตในการลอบข้ามกำแพง

ในการลอบข้ามกำแพง เป็นความเสี่ยงที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต ด้วยรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกมีกฎที่ว่าผู้หลบหนีจะถูกยิงทิ้งทันทีที่พบเห็น จำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากการลอบข้ามกำแพงเบอร์ลินนั้นยังไม่แน่ชัดนัก บางแหล่งระบุว่ามี 192 คนถูกฆ่าระหว่างการหลบหนี และอีกประมาณ 200 คนบาดเจ็บสาหัส ขณะที่บางแหล่งข้อมูลกลับมีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพียง 136 คนบางแหล่งข้อมูลกับมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 246 คน  และในวิกีพีเดียภาษาอังกฤษได้ระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ 100 – 200 คน เหตุที่เป็นดังนี้ เนื่องจากทางรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกไม่ได้ทำรายงานเรื่องนี้ และเมื่อมีผู้เสียชีวิตในการลอบข้ามกำแพง ทางการก็ไม่ได้แจ้งข่าวแก่ครอบครัวอีกด้วย

เหตุการณ์เสียชีวิต ณ กำแพงเบอร์ลิน ครั้งที่โด่งดังที่สุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) เมื่อนายปีเตอร์ เฟตช์เตอร์ (Peter Fechter)เด็กหนุ่มที่ลอบข้ามกำแพงเบอร์ลินถูกยิง และปล่อยให้เลือดไหลจนตายต่อหน้าสื่อมวลชนตะวันตก เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการต่อต้านกำแพงเบอร์ลินอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวัน ผู้หลบหนีรายสุดท้ายที่ถูกยิงตายคือนาย Chris Gueffroy เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989)

 

การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน

ในปี ค.ศ. 1989 ตรงกับยุคที่ นายมีฮาอิล กอร์บาชอฟ เป็นประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต ได้มีการทดลองการปฏิรูปการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ในเยอรมนีตะวันออก ได้มีการชุมนุมประท้วงใหญ่อย่างสงบขึ้นโดยเฉพาะในเมือง โพสต์ดัม ไลพ์ซิจ และเดรสเดน เริ่มต้นในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1989 และดำเนินเรื่อยมา เป็นเหตุให้รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกได้รับความกดดันเป็นอย่างมาก กระทั่งได้มีการประกาศว่า จะเปิดพรมแดนให้ชาวเยอรมันสามารถเดินทางผ่านแดนได้อย่างอิสระ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) ในวันดังกล่าวชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากได้มารวมตัวกัน ณ กำแพงเบอร์ลิน เพื่อข้ามผ่านแดนไปยังเบอร์ลินตะวันตกครั้งแรกในรอบ 28 ปี จึงถือเอาวันดังกล่าว เป็นวันล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน

มีบางแหล่งข้อมูลอ้างว่า ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 นาย Günter Schabowski รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ (Minister of Propaganda) ของเยอรมนีตะวันออกได้แถลงข่าว (ซึ่งภายหลังพบว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเขาเอง) ว่าทางการจะอนุญาตให้ชาวเบอร์ลินตะวันออก ผ่านเข้าออกเขตแดนได้อย่างเสรีอีกครั้ง ทันใดนั้นเอง ผู้คนนับหมื่นที่ได้ทราบข่าวก็ได้หลั่งไหลไปยังด่านต่าง ๆ ของกำแพง. หลังจากความโกลาหลอยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังไม่ได้รับคำสั่งใด ๆ จากทางการ ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ต้องยอมปล่อยให้ฝูงชนผ่านเขตแดนไปอย่างไม่มีทางเลือก ชาวเบอร์ลินตะวันตกออกมาต้อนรับชาวเบอร์ลินตะวันออก บรรยากาศในเช้ามืดวันนั้นเหมือนงานเฉลิมฉลอง

ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 กำแพงเบอร์ลินได้ถูกทุบทำลายบางส่วนโดยชาวเยอรมัน และชาวยุโรป แต่การทำลายกำแพงเบอร์ลินอย่างเป็นทางการ เริ่มเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2533แต่กระนั้นยังคงอนุรักษ์กำแพงบางช่วงไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ นอกจากนี้ ยังมีการประมูลจำหน่ายชิ้นส่วนกำแพงเบอร์ลิน และได้มีการมอบชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ และสถานที่สำคัญ ๆ อีกหลายแห่ง อาทิ ด้านหน้าสภายุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พิพิธภัณฑ์นิวเซียม กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอมริกา พิพิธภัณฑ์จอห์น เอฟ เคนเนดี และพิพิธภัณฑ์โรแนล เรแกน ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ใส่ความเห็น